ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า แป้งปลอดกลูเตน น่าจะสามารถชูเป็น Product Champion ผ่านการแปรรูปผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากฐานความรู้สมัยใหม่อย่างเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งเป็นคลื่นเศรษฐกิจลูกใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าฐานเกษตรกรรม ด้วยการนำผลผลิตมันสำปะหลังที่ไทยมีเป็นจำนวนมากไปสร้างเป็นสารเคมีจากชีวภาพที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้สูง ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่แพ้กลูเตนและกลุ่มผู้รักสุขภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563-2564 หากไทยสามารถนำมันสำปะหลังสดที่มีอยู่ราว 30 ล้านตัน แบ่งนำมาผลิตแป้งปลอดกลูเตนที่ร้อยละ 10 จะสามารถสร้างเพิ่มมูลค่าได้ราว 2.3 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าราว 137,000 ล้านบาท และจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างก้าวกระโดดได้ถึง 8.2 เท่าในปี 2570 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 486,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของแป้งปลอดกลูเตนคงต้องขึ้นอยู่กับการกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ผ่านการวิจัยและพัฒนา ทั้งในภาครัฐและเอกชน มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้การพัฒนาของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก และยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรขั้นต้นรายใหญ่ของโลก เมื่อผนวกกับแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกได้ปรับไปสู่ฐาน New Normal ตลอดจนการ Deglobalization จะยิ่งทำให้ไทยต้องเผชิญความผันผวนด้านราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถูกกำหนดจากตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรนับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาและต่อยอดอย่างเร็วที่สุด ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากฐานความรู้สมัยใหม่อย่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งเป็นคลื่นเศรษฐกิจลูกใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าฐานเกษตรกรรม ด้วยการนำผลผลิตทางการเกษตรไปใช้สร้างสารเคมีจากชีวภาพ (Biochemical) ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้อย่างมากมาย โดยที่แป้งปลอดกลูเตน (Gluten Free Flour)
นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพจากการที่ไทยผลิตมันสำปะหลังได้ราว 30 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยดูดซับอุปทานในประเทศได้อย่างยั่งยืน และยังสอดคล้องกับกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศในการผลักดันให้ไทยเป็นครัวของโลกในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยอาจเติบโตไปได้อย่างระมัดระวัง จากปัจจัยท้าทายของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาที่น่าจะยังมีอยู่ รวมถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่อาจทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวนัก อีกทั้งยังต้องจับตาปริมาณสต๊อกข้าวโพดของจีนที่ยังอยู่ในระดับสูงราว 200 ล้านตัน
โดยหากพิจารณาแนวโน้มการเติบโตเป็นรายผลิตภัณฑ์คือ มันเส้นมันอัดเม็ดและแป้งมันสำปะหลังดิบ (ขั้นต้น) น่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับต่ำ เนื่องจากนโยบายของจีนไม่เอื้อต่อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขั้นต้นของไทย เช่น จีนมีการพึ่งพาข้าวโพดในสต๊อกภายในประเทศมากขึ้น และจีนยังมีการลงทุนพื้นที่ปลูกและโรงงานแปรรูปขั้นต้นในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น
รวมถึงยังต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากธัญพืชทดแทน และราคามันสำปะหลังของคู่แข่งอย่างเวียดนามที่ถูกกว่าไทย ขณะที่แป้งมันสำปะหลังดัดแปร (ขั้นกลาง) น่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี (แต่เป็นการขยายตัวที่ลดลง) เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจแป้งมันสำปะหลังดัดแปรนี้ไม่รุนแรงนัก ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ดีตามอุตสาหกรรมขั้นปลายที่เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงอย่างเครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องไปกับ S-Curve
ดังนั้น ไทยจึงควรมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขั้นกลางอีกตัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีแนวโน้มการเติบโตดีตามเทรนด์การบริโภคของตลาดโลกในระยะยาวและมีมูลค่าเพิ่มสูง อย่างแป้งปลอดกลูเตนที่สามารถชูเป็น Product Champion ได้
ด้วยการปรับลดวัตถุดิบมันสำปะหลังที่จะนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นต้นอย่างมันเส้นมันอัดเม็ดและแป้งมันสำปะหลังดิบ แล้วนำมาผลิตแป้งปลอดกลูเตนแทน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ขั้นกลางที่มีอยู่เดิมอย่างแป้งมันสำปะหลังดัดแปร แม้จะมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปได้ แต่ก็น่าจะเป็นการขยายตัวที่ลดลง จึงทำให้แป้งปลอดกลูเตน น่าจะเป็นสินค้าที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการขยายตลาดเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้ในระยะข้างหน้า
แป้งปลอดกลูเตนเติบโตดี...ตอบโจทย์ผู้แพ้กลูเตนในตลาดยุโรป & สหรัฐอเมริกา
แป้งปลอดกลูเตน เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้เป็นโรคเซลิแอคหรือผู้แพ้กลูเตน ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน และผู้รักสุขภาพเนื่องจากมีกากใยสูง ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสของมันสำปะหลังที่ปลอดกลูเตน เพื่อนำมาผลิตเป็นแป้งปลอดกลูเตนในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เบเกอรี่ อาหารที่ไม่มีส่วนผสมของนม ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม
ตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่มีสัดส่วนมูลค่าตลาด Gluten Free กว่าร้อยละ 29 ของมูลค่าตลาดอาหาร Free-From ของโลก และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 9.6 ต่อปี นับเป็นอัตราสูงที่สุดของประเภทอาหารในกลุ่ม Free-From และยังมีมูลค่าตลาด Gluten Free เพิ่มขึ้นกว่า 1.7 เท่าในปี 2567 (57.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับปี 2562 (32.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
สำหรับตลาดกลุ่มผู้บริโภคหลักของอาหาร Gluten Free จะอยู่ในสหภาพยุโรป (ร้อยละ 52) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 20) เนื่องจากผลผลิตธัญพืชหลักในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะเป็นข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ทำให้มีความต้องการแป้งปลอดกลูเตนในปริมาณสูง
โดยมีมูลค่าตลาดแป้งปลอดกลูเตนในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริการวมกันในปี 2562 อยู่ที่ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี สะท้อนถึงโอกาสของมันสำปะหลังไทยที่จะนำมาผลิตเป็นแป้งปลอดกลูเตนเพื่อป้อนตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร Free-From ที่มีแนวโน้มเติบโตดี โดยเฉพาะตลาดเบเกอรี่ที่ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 27.2 ของมูลค่าตลาดอาหาร Free-From โลก และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ดีราวร้อยละ 8.8 ในปี 2562-2567
ชูแป้งปลอดกลูเตนเป็น Product Champion...สร้างมูลค่าเพิ่มสูง และช่วยดูดซับอุปทาน
สอดรับกับเป้าหมายศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย
เนื่องด้วยแนวโน้มผลผลิตมันสำปะหลังของไทยในระยะข้างหน้าที่อาจให้ภาพทยอยลดลง จากผลของแนวโน้มราคาที่ไม่จูงใจให้ขยายการผลิต โดยเฉพาะแรงกดดันจากความต้องการของจีนที่มีแนวโน้มลดลง และเนื่องด้วยมันเส้นมันอัดเม็ดและแป้งมันสำปะหลังดิบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นต้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้เฉลี่ยเพียง 1.2 เท่า
ทำให้ในระยะข้างหน้า ไทยควรมีการลดการผลิตมันเส้นมันอัดเม็ดและแป้งมันสำปะหลังดิบ แล้วไปเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นกลางอย่างแป้งปลอดกลูเตนทดแทนในสัดส่วนเดียวกัน และชูแป้งปลอดกลูเตนเป็น Product Champion เพื่อเป็นการยกระดับสู่ผลิตภัณฑ์ขั้นกลางที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่า และยังเป็นการปรับสมดุลให้กับอุปทานของมันสำปะหลังไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563-2564 หากไทยสามารถนำมันสำปะหลังสดที่มีอยู่ราว 30 ล้านตัน แบ่งนำมาผลิตแป้งปลอดกลูเตนที่ร้อยละ 10 (ต้องลดการผลิตมันเส้นมันอัดเม็ดและแป้งมันสำปะหลังดิบลงร้อยละ 10 ด้วยเช่นกัน) จะสามารถสร้างเพิ่มมูลค่าได้ราว 2.3 เท่าของมูลค่าหัวมันสำปะหลังสดที่ขายได้ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 137,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ธุรกิจแป้งปลอดกลูเตนของไทยน่าจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่มีผู้สนใจ ทำให้ยังมีปริมาณการค้าเชิงพาณิชย์ไม่มากนัก เนื่องจากความรู้ทางด้านเทคโนโลยีที่ยังจำกัดในเฉพาะกลุ่มอย่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่
ส่งผลให้มีโรงงานผลิตแป้งปลอดกลูเตนรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งความสำเร็จของการผลิตแป้งปลอดกลูเตนเพื่อส่งออกของไทยในปี 2563-2564 น่าจะพัฒนาไปได้ระดับหนึ่ง สอดคล้องกับกรอบนโยบายพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพที่จะสิ้นสุดในระยะที่ 2 (ปี 2555-2564)
มองต่อไปในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2570 หากไทยสามารถนำมันสำปะหลังสดที่คาดว่าน่าจะลดลงเหลือราว 20.6 ล้านตัน แบ่งนำมาผลิตแป้งปลอดกลูเตนที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 (ต้องลดการผลิตมันเส้นมันอัดเม็ดและแป้งมันสำปะหลังดิบลงร้อยละ 40 ด้วยเช่นกัน)
ประกอบกับแนวโน้มราคาแป้งปลอดกลูเตนต่อหน่วยที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการในตลาดโลกที่น่าจะเติบโตดี จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างก้าวกระโดดได้ราว 8.2 เท่าของมูลค่าหัวมันสำปะหลังสดที่ขายได้ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 486,000 ล้านบาท
ซึ่งความสำเร็จของการผลิตแป้งปลอดกลูเตนเพื่อส่งออกของไทยในปี 2570 น่าจะพัฒนาไปได้ไกลพอสมควรแล้ว สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวมวล (Bio Hub of ASEAN) ภายในปี 2570 โดยใช้เขตพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC โดยมี Biopolis ใน EECi เป็นแพลตฟอร์มหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุน และทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างฐานรายได้ใหม่และความยั่งยืนให้กับประเทศ
อีกทั้งแป้งปลอดกลูเตน ยังเป็นสินค้าในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สอดรับกับการสนับสนุนของนโยบายรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมีความเชื่อมโยงอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมากถึง 5 อุตสาหกรรมคือ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวสุขภาพ
สรุป จากแนวโน้มราคามันสำปะหลังในระยะข้างหน้าที่น่าจะอยู่ในระดับต่ำ ไม่จูงใจต่อการขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ไทยต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังเพื่อลดความผันผวนด้านราคาและลดความเสี่ยงการส่งออกในรูปของสินค้าขั้นต้นที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ด้วยการผลักดันให้เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตที่เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง
ซึ่งอยู่ในกระแสการบริโภคระยะยาวที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เติบโตดี เช่น เครื่องสำอาง ยา อาหารเสริม อาหารและเครื่องดื่ม โดยการชูแป้งปลอดกลูเตนเป็น Product Champion ซึ่งคาดว่า ในปี 2570 แป้งปลอดกลูเตนจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างก้าวกระโดดได้ราว 8.2 เท่า อย่างไรก็ดี มองต่อไประยะข้างหน้าในส่วนของอุปสงค์หรือด้านการตลาด ก็ควรดำเนินการควบคู่ไปกับด้านอุปทาน
โดยเน้นไปที่การสร้างอุปสงค์ในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดสัดส่วนการส่งออกโดยเฉพาะในตลาดจีนที่มีแนวโน้มชะลอลง อันจะสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการต่อยอดสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น ตามแนวทาง “เมืองนวัตกรรมอาหาร” หรือ Food Innopolis
ส่วนในด้านนโยบาย ควรมีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ผ่านการวิจัยและพัฒนา ทั้งในภาครัฐและเอกชน มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น โรงงานต้นแบบ รวมไปถึงหลักสูตรในระบบการศึกษา และความร่วมมือในระดับนานาชาติในโครงการวิจัยต่างๆ
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้การพัฒนาของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผ่านการผลักดันการลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมของทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และมีมูลค่าเพิ่มสูง และหากไทยประสบความสำเร็จในการนำวิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและเสริมสร้างภาคการเกษตรและอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาจส่งผลให้ไทยก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารในลำดับต้นๆ ของโลกได้ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และขยายมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกของไทยในปัจจุบัน
"แป้ง" - Google News
July 23, 2020 at 09:11PM
https://ift.tt/30GwnJv
ศูนย์วิจัยกสิกรฯชูแป้งปลอดกลูเตนสร้างมูลค่ามันสำปะหลัง 8.2 เท่าในปี 70 - efinanceThai
"แป้ง" - Google News
https://ift.tt/2Mijpe0
Home To Blog
No comments:
Post a Comment